Sunday 11 January 2015

เศรษฐกิจ : คอลัมน์เด็ด


วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557
เงินทองต้องรู้ : อยู่หรือไป

เงินทองต้องรู้ : อยู่หรือไป

เงินทองต้องรู้ : อยู่หรือไป : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล k_wuttikul@hotmail.com

 
                                ราวๆ กลางเดือนที่ผ่านมา ได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้ไปช่วยบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับความรู้ด้านการออมและการลงทุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ฟัง ทำให้รู้ว่า เป็นความเข้าใจ (ไปเอง) ของคนที่คลุกคลีจนเคยชินกับการออมและการลงทุน ที่คิดว่า คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้จะสามารถหรืออย่างน้อยที่สุด ก็มีความพยายามจะแบ่งสรรปันส่วนเงินของตัวเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเองในอนาคต ซึ่งเป็นความเข้าใจ (ไปเอง) ที่ผิด เพราะมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่ได้เริ่มศึกษาการลงทุน สิ่งที่ทำอยู่อย่างเดียว คือ ฝากเงินไว้กับธนาคาร นั่นทำให้การบรรยายในวันนั้นสร้างความตื่นตัวได้มากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนพูด
 
                                ที่น่ายินดีกว่านั้น คือ การที่ผู้บริหารของสถาบันการศึกษาอย่าง รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี ใส่ใจกับเรื่องเงินทองของบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่อง “พื้นฐานสำคัญ” ของมนุษย์ หลังจบการบรรยายในวันนั้น เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยยังเดินแจกเอกสารที่อธิการบดีฝากมาถึงทุกคน เป็นบทความที่ท่านเขียนในนิตยสารสกุลไทย หัวข้อ “ออมก่อนใช้” ซึ่งในบทความชิ้นนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ปิดท้ายไว้ว่า “ออมก่อนใช้ เป็นคาถาที่ขลัง ถ้าต้องการมีเงินเหลือจากการใช้จ่าย เพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คาถานี้จะช่วยให้มีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ”
 
                                “ออมก่อนใช้” เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว และได้รับการยืนยันว่า เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเก็บหอมรอมริบ เพราะต่อให้ใช้จ่ายน้อยแค่ไหน แต่ถ้า “ใช้ก่อนออม” เงินออมที่เหลืออยู่ก็แทบไม่เคยทำให้ใครบรรลุเป้าหมายทางการเงินของตัวเองได้
 
                                ปัญหา คือ ถ้าออมด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องหาทาง “บังคับให้ตัวเองต้องออม” ถ้าเป็นพนักงานบริษัทเอกชน และบริษัทมี “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ขอให้โดดเข้าใส่แบบไม่ต้องลังเล เพราะนั่นคือ “สวัสดิการ” ที่บริษัทจัดให้ เนื่องเพราะกลไกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะหักเงินเดือนจากพนักงานส่วนหนึ่ง จะเดือนละ 3% หรือ 5% ของเงินเดือนก็แล้วแต่ข้อกำหนดที่ตกลงทำร่วมกัน นี่แหละคือ การออมภาคบังคับ และเป็นการ “ออมก่อนใช้” ของจริง 
 
                                แต่ที่มากกว่านั้น และเป็น “สวัสดิการ” ก็คือ ไม่ว่าจะหักเงินเดือนพนักงานเท่าไหร่ บริษัทก็มีหน้าที่ต้องเติมให้ในจำนวนที่เท่ากัน เงินก้อนนี้จะถูกนำไปบริหารจัดการหาผลตอบแทนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ที่ตัวแทนนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างร่วมกันเลือก และนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่นายจ้าง-ลูกจ้าง และผู้จัดการกองทุน ตัดสินใจร่วมกัน
 
                                ถ้าพูดแบบวัยรุ่น ก็ต้องบอกว่า “ความฟิน” มันอยู่ที่เมื่อลูกจ้างลาออกจากงาน โดยมีระยะเวลาการทำงานครบตามข้อตกลง คือ 5 ปี หรือ 6 ปี ก็สามารถรับเงินทั้งก้อน ทั้งส่วนที่หักจากลูกจ้าง ส่วนที่นายจ้างเติมให้ รวมถึงดอกผลจากการบริหารของ บลจ. ส่วนถ้าทำงานในระยะเวลาไม่ครบ จะลาออกก่อน เขาก็จะมีข้อกำหนดลดหลั่นกันลงไป นอกจากนี้ การลงทุนระหว่างปีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้อีก
 
                                ลูกจ้างที่ไม่เคยคิดว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตจะมีเงินแสน หรือหลายแสน หรือมากขนาดหลักล้าน บอกไว้ตรงนี้เลยว่า ชีวิตจะมีโอกาสจับเงินก้อนโต ก็ด้วย “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นี่แหละ
 
                                ขณะที่ข้าราชการก็ไม่น้อยหน้า เพราะกลไกการทำงานของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ก็เป็นกลไกที่มีรูปแบบเดียวกันกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แค่แตกต่างกันในเรื่องของรายละเอียด
 
                                มีโอกาสฟังคุณสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กบข. แถลงผลการดำเนินงานของ กบข. เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณสมบัติคุยให้ฟังถึงเรื่องการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือที่เรียกชื่อเล่นกันว่า ใช้สิทธิอันดู (Undo) ที่อาจแปลได้ว่า ย้อนกลับหรือไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งสิทธิ Undo นี้ ให้สิทธิข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก แล้วกลับไปใช้สิทธิแบบเดิม
 
                                สิทธิแบบเดิม หมายถึง เมื่อข้าราชการเกษียณอายุแล้ว สามารถเลือกรับ “บำเหน็จ” (คำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่รับราชการ) โดยรับเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียว หรือรับ “บำนาญ” (คำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่รับราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 100% ของเงินเดือน) ที่รับเป็นรายเดือนจนเสียชีวิต สิทธิแบบเดิมนี้ ข้าราชการเลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างรับบำเหน็จหรือบำนาญ
 
                                แต่ถ้าเป็นสมาชิก กบข. ข้าราชการจะได้รับทั้ง “บำเหน็จ” และ “บำนาญ” ต่างกันที่สูตรในการคำนวณ เพราะเงินก้อนหรือ “บำเหน็จ” ที่ข้าราชการจะได้รับ จะประกอบด้วยเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสะสมและเงินสมทบ บวกด้วยดอกผลจากการบริหารจัดการ ถ้านึกไม่ออกว่า เงินก้อนนี้อยู่ที่เท่าไหร่ คุณสมบัติบอกว่า เคยลองทำสถิติออกมาเป็นค่ากลางๆ แล้วพบว่า อยู่ระหว่าง 8 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท โดยแยกคร่าวๆ ได้ว่า เป็นเงินส่วนของข้าราชการที่ถูกสะสมไว้ 30% และเป็นเงินที่รัฐเติมให้จากการบริหารผ่าน กบข.อีก 70% 
 
                                แปลว่า ใน 1 ล้านบาท มีเงินเราแค่ 3 แสนบาท แต่เป็นเงินเขาที่เติมให้เราถึง 7 แสนบาท ! 
 
                                ส่วนสูตรการคำนวณ “บำนาญ” ของสมาชิก กบข. จะคำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณอายุราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็นทำให้สมาชิกลังเลใจว่า จะ Undo หรือไม่ Undo เพราะมีตัวแปรอย่างน้อย 2 ตัวที่แตกต่างจากคนไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. นั่นคือ “เงินเดือนเดือนสุดท้าย” กับ “เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย” และ “แต่ต้องไม่เกิน 100% ของเงินเดือนสุดท้าย” กับ “แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย”
 
                                เพราะถ้าดูแค่ 2 คู่นี้แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า สิทธิของสมาชิก กบข.ในการรับบำนาญนั้น “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก อันนี้คุณสมบัติก็คำนวณให้ว่า เอาเข้าจริง มันแตกต่างกันไม่มาก อาจจะประมาณ 10% เท่านั้น แต่อย่าลืมว่า สมาชิก กบข.ยังได้ “บำเหน็จ” อีกก้อนใหญ่ รวมถึงผลตอบแทนจากการบริหารจัดการลงทุน ซึ่งในรอบ 11 เดือนครึ่งของปีนี้ สามารถทำได้เกือบ 6% ซึ่งถือว่า น่าพอใจ ท่ามกลางความผันผวนของหุ้นไทย-หุ้นโลก รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
 
                                ถามว่า สมาชิกจะอยู่หรือจะไป จะ Undo หรือจะเดินหน้าต่อ ไม่มีใครตอบได้ เพราะแต่ละคนต้องคำนวณเงินเดือน อายุราชการ และ ฯลฯ ของตัวเองว่า แบบไหนให้ “ประโยชน์” มากกว่ากัน แต่ที่ตอบได้แบบหนักแน่นและมั่นคง ก็คือ การเป็นสมาชิก กบข. ก็เหมือนการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่สร้าง “วินัย” ในการ “ออมก่อนใช้” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
                                เพราะแค่กลไกนี้กลไกเดียวก็เหมือนกับที่ รศ.ดร.วรากรณ์ เขียนไว้ว่า คาถา “ออมก่อนใช้” จะช่วยให้มีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ
 
 
 
 
 
 
------------------------
 
(เงินทองต้องรู้ : อยู่หรือไป : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล k_wuttikul@hotmail.com)

0 comments:

Post a Comment